การใช้เทคโนโลยีอื่นนอกจาก World Wide Web สำหรับอินทราเน็ต
เมื่อเราพูดถึง Intranet คนส่วนใหญ่จะนึกถึง World Wide Web หรือภาษาชาวบ้านก็คือ home page ที่เป็นข่าวสารภายในหรือข้อมูลภายในองค์กร ซึ่งเป็นความคิดที่ไม่ผิด เพราะส่วนใหญ่เราก็ใช้ World Wide Web สำหรับอินทราเน็ตจริงๆ และ World Wide Web ก็เป็นเครื่องมือที่เหมาะสมที่สุด และมีประสิทธิภาพที่สุดสำหรับอินทราเน็ต แต่ในเมื่ออินทราเน็ตก็คือ การใช้เทคโนโลยีของอินเตอร์เน็ต สำหรับงานภายในองค์กร และ World Wide Web ก็เป็นเพียงเทคโลยีหนึ่งในอินเตอร์เน็ตเท่านั้น World Wide Web ไม่ใช่อินเตอร์เน็ตทั้งหมด ยังมีเทคโนโลยีอื่นอีกที่ใช้ในอินเตอร์เน็ต ถ้าเราพิจารณาและเลือกใช้เทคโนโลยีเหล่านั้นให้เหมาะสม เราก็อาจได้อินทราเน็ตที่มีประสิทธิภาพ และต้นทุนถูกกว่าการใช้ เทคโนโลยีของ World Wide Web เพียงอย่างเดียวก็ได้ ดังนั้นบทความนี้จึงชวนท่านผู้อ่านมามองหาเทคโนโลยีอื่นดูบ้าง ว่าจะเป็นประโยชน์กับอินทราเน็ตเพียงใด
หากจะพูดถึงเทคโนโลยีอื่นที่ไม่ใช่ World Wide Web แล้วมันก็เป็นเรื่องยากพอสมควร ที่จะแยกเทคโนโลยีอื่นออกไปจาก WWW เพราะปัจจุบันผู้ผลิต software ทั้งหลาย ก็พยายามผูกโยงตัวเองเข้าไปกับ browser อยู่แล้ว Java นั้นหากเราจะแยกจาก WWW ก็ได้ ถึงแม้จะผูกโยงโดยตรงกับ browser ก็ตาม แต่ถึงอย่างไรแล้ว Java ก็เป็นความซับซ้อนและต้องการผู้เชี่ยวชาญ มากกว่าการใช้ WWW ธรรมดาเสียอีก ในบทความนี้จึงไม่ถือว่า Java เป็นเทคโนโลยีในกลุ่มที่เราจะพิจารณา
ในมหาวิทยาลัยรังสิตนั้น เราก็ใช้ WWW เป็นหลักและอาจเรียกได้ว่า เป็นเทคโนโลยีเดียวที่ใช้ในอินทราเน็ตก็ได้ แต่ในขณะเดียวกันเราก็ได้พยายามมอง และได้ทดลองนำเทคโนโลยีอื่นมาใช้บ้างแล้ว แต่ก็ต้องยอมรับว่ายังไม่มีอะไรดีกว่า WWW ในมหาวิทยาลัยรังสิตเราใช้ WWW ในการให้ข่าวสารและข้อมูล ด้านต่างๆแก่ทั้งผู้บริหาร บุคลากร และนักศึกษา ซึ่งรวมไปถึงผู้ปกครองของนักศึกษาด้วย ข่าวและข้อมูลที่ให้นั้นถือว่า ผู้บริโภคข่าวหรือข้อมูลมีสิทธิที่จะเลือกดูหรือไม่ดูก็ได้ เราไม่ได้บังคับ ขณะที่มีการใช้ WWW อีกด้านหนึ่งซึ่งมีลักษณะเป็นการประมวลผล งานแบบนี้จะมีลักษณะบังคับ เช่นการเบิกจ่ายพัสดุจะต้องทำผ่านอินทราเน็ตเท่านั้น จะเบิกโดยวิธีอื่นไม่ได้ นั่นคืองานที่มีลักษณะบังคับ หรือการให้นักศึกษาลงทะเบียนผ่านอินทราเน็ต บังคับให้ลงทะเบียนได้ทางนี้ทางเดียว จึงมีลักษณะบังคับ เมื่อบังคับแล้วผู้บริโภคย่อมไม่มีสิทธิเลือก ไม่มีโอกาสบิดพริ้ว จะไม่สนใจไม่ได้ งานที่มีลักษณะบังคับนี้ จึงประสบความสำเร็จในแง่ผู้ใช้อยู่ในตัวอยู่แล้ว
แต่งานในลักษณะที่ไม่บังคับนี่สิ ผู้บริโภคอาจไม่สนใจเลยก็ได้ ถ้าข่าวสารหรือข้อมูลนั้นไม่ดีพอ สำหรับอินทราเน็ตในมหาวิทยาลัยรังสิตนั้น ก็ไม่ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จไปทุกระบบ การให้ข้อมูลเกี่ยวกับนักศึกษานั้น แน่นอนย่อมประสบความสำเร็จ เพราะนักศึกษาทุกคนอยากรู้ผลการเรียนของตนเอง ถึงแม้จะสามารถหาดูได้ทางอื่น แต่ข้อมูลผ่านคอมพิวเตอร์ ก็แลดูน่าเชื่อถือกว่าและที่สำคัญ เรารู้ถึงเสน่ห์ของความเปลี่ยนแปลง ข้อมูลเราจึงต้องทันสมัยตลอดเวลา นักศึกษาเลยได้ลุ้นดูกันทุกวัน แต่ระบบที่ยังถือว่าไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ก็คือระบบเผยแพร่ข่าว อันความสำเร็จหรือไม่สำเร็จนั้น เราวัดจากจำนวนผู้เข้ามาดู และผู้ที่ลงข่าวเพิ่มเติม เมื่อมีผู้มาลงข่าวน้อย การเปลี่ยนแปลงในเนื้อหาน้อย คนก็ย่อมเข้ามาดูน้อยตามไปด้วย ถึงแม้เราจะเปลี่ยนไปใช้มาตรการบังคับ คือห้ามเผยแพร่ข่าวทางเอกสาร แต่คนยังไม่คุ้นเคยว่าเปิดขึ้นมาต้องดูข่าวทุกวันแล้ว ระบบก็อาจไม่ประสบความสำเร็จก็ได้ ข่าวหากไปถึงผู้รับช้าเกินไป ข่าวนั้นก็ย่อมหมดคุณค่า ดังนั้นเราจึงคิดว่าการที่ให้ผู้บริโภค เข้ามาเพื่อดูข่าวนั้นอาจไม่ประสบผลสำเร็จ เท่ากับการที่เราส่งข่าวไปให้เขาที่เครื่องคอมพิวเตอร์เลย
จากแนวคิดที่ว่าทำอย่างไร เราจึงจะสามารถส่งข่าว ไปให้คนที่อยู่ที่คอมพิวเตอร์ได้เลย เราจึงพยายามมองหาวิธีการอื่นนอกจาก WWW ดังได้กล่าวนำมาเสียนาน เพิ่งจะมาถึงเรื่องที่จะต้องเขียน ตามที่ได้ขึ้นหัวเรื่องไว้ตอนนี้นั่นเอง เทคโนโลยีแรกที่เรามองมานานแล้ว และเราก็คุ้นเคยดีนั้นก็คือ e-mail คงไม่ใช่เรื่องยากที่เราจะกระจายข่าวที่สำคัญผ่าน e-mail ไปยังทุกคนที่อยู่ใน list แต่เมื่อสำรวจดูแล้ว ก็พบว่ามีคนจำนวนน้อย ที่ตรวจดูและอ่าน e-mail ทุกวัน นอกจากคนที่มีการติดต่อส่ง e-mail กับผู้อื่นอยู่แล้ว นี่เป็นมหาวิทยาลัยรังสิตนะครับ ที่ต่อเชื่อมกับอินเตอร์เน็ตอยู่แล้ว ถ้าเป็นอินทราเน็ตชนิดที่ไม่ได้เชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตด้วยแล้ว คงไม่มีใครอยากดู e-mail สักเท่าไร เหมือนคอยชะโงกดูในกล่องรับจดหมายหน้าบ้านทุกวัน แต่ก็ไม่มีจดหมายมาสักที ท้ายที่สุดก็เลิกดูไปเอง แต่ถ้าพนักงานทุกคนมีคอมพิวเตอร์ประจำ คนละหนึ่งเครื่องเช่นพวกบริษัทคอมพิวเตอร์ทั้งหลาย แบบนี้ถ้าเราใช้ offline mail reader ก็น่าจะประสบความสำเร็จ เพราะ mail จะวิ่งมาหาเอง พนักงานนั่งอยู่หน้าเครื่องก็รู้ได้ทันที เมื่อมี mail มาถึง แบบนี้จะดีกว่าการให้กดเรียกไปดูบน WWW เอง แต่ปัญหาคงอยู่ที่ว่า จะหาคอมพิวเตอร์ให้พนักงานทุกคนได้อย่างไร เพราะทุกคนไม่ได้ทำงานเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ขืนเอาไปแจกให้เพื่อดู mail อย่างเดียวคงไม่ค้มแน่ แต่ e-mail ก็เป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับอินทราเน็ต
ถัดจาก e-mail เราข้ามมาดูที่ push technology ถ้าท่านได้อ่านดูเรื่องที่เกี่ยวกับ push technology มาบ้างก็จะเห็นว่า push เป็นคำตอบสำหรับเรื่องนี้อยู่แล้ว ข้อมูลส่งมาให้ที่เครื่องเราเองโดยอัตโนมัติ โดยเราไม่ต้องไปขวนขวายหาดู พอดีผมยังไม่ได้ทดลอง push technology ทั้งของ Netscape และ Internet Explorer แต่ได้ทดลองใช้ Pointcast Intranet tools แล้ว รู้สึกว่าการจะทำให้ใช้งานได้ยุ่งพอสมควร ซึ่งผมขอประเมินข้อดีข้อเสีย ของการใช้ Pointcast Intranet Tools ได้โดยมีข้อดีคือ การพ่วงไปกับข่าวทั่วโลก ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทำให้คนสนใจข่าวทั่วโลกเลยมาดูข่าวของเราด้วย แต่ข้อเสียก็มีเหมือนกัน เช่นคนอาจไม่สนใจข่าวรอบโลกก็ได้ เพราะเป็นภาษาอังกฤษทั้งนั้น ผลก็คือไม่ดูข่าวในองค์กรด้วย ส่วนข้อเสียหลักเลยคือ รู้สึกว่าการทำหน้าข่าวที่จะเผยแพร่นั้นยาก เหมาะกับข่าวที่เขาเผยแพร่ทั่วโลก ส่วนประเภททำข่าวกันไม่มากนัก อาจไม่ค่อยเหมาะเพราะข่าวต้องรวมศูนย์ แล้วมีหน่วยงานหนึ่งคอยทำ home page ถ้าเทียบแล้วสู้วิธีที่เราใช้อยู่ในมหาวิทยาลัยรังสิตไม่ได้ เพราะทุกหน่วยงานสามารถลงข่าวได้เอง และวิธีการง่ายกว่า แค่พิมพ์อย่างเดียวไม่ต้องทำ home page แต่ทำเป็น home page ก็มีข้อดีคือสามารถทำได้สวยกว่า สาทารถทำหน้าตาได้หลายแบบและมีรูปได้ แต่ push technology ก็เป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับอินทราเน็ต ที่สำคัญไม่ต้องเขียนโปรแกรม และในอนาคตอาจมีการพัฒนาได้ดีกว่านี้ก็ได้
อีกเทคโนโลยีหนึ่ง หากลืมไปโดยไม่กล่าวถึงก็คงไม่ถูกต้องนัก หากไม่อยากเขียนโปรแกรม ผมว่าถ้าเราใช้ News (NNTP) ก็สามารถนำมาใช้ได้เลยในอินทราเน็ต โดยเฉพาะ News สามารถรับและส่งผ่าน browser ได้ เราสามารถส่งข่าว ถามตอบกันได้ ผมถือว่า News เป็นตัวเลือกที่น่าพิจารณาทีเดียว หากท่านจะทำอินทราเน็ต เพราะสามารถทำได้ทันที ไม่เสียเวลามากลำบากหน่อยก็ตอนตั้ง News Server เท่านั้น ข้อเสียของ News ก็คงอยู่ที่ผู้บริโภคข่าว ต้องเรียกเข้าไปดูเองแต่ก็ไม่ได้ยุ่งยากอะไร
เราดูเทคโนโลยีเพื่อแพร่ข่าวมาก็มากแล้ว คราวนี้มาดูการติดต่อสื่อสารกัน ระหว่างบุคคลากรในองค์กรกันบ้าง ตอนนี้โทรศัพท์ก็ยังถือว่า เป็นอุปกรณ์สื่อสารที่ดีที่สุดอยู่ เราคงไม่ห้ามใช้โทรศัพท์ แล้วให้มาคุยกันผ่านอินทราเน็ต เพราะคงไม่เกิดประโยชน์ นอกจากค่าใช้จ่ายสูงขึ้น แต่ถ้าองค์กรของเรามีที่ตั้งอยู่ห่างกัน จะต้องเสียค่าโทรศัพท์ทางไกลแล้ว ผมว่าถ้าเราจะพิจารณานำการสื่อสารบนอินเตอร์เน็ต มาพิจารณาก็ไม่เลวนะครับ เราสามารถลดค่าใช้จ่ายโทรศัพท์ทางไกลได้ ปัจจุบันนี้ผมติดต่อสื่อสารกับ บุคลากรในศูนย์บริการระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ ผ่านอินเตอร์เน็ตจากบ้านผมมามหาวิทยาลัยเป็นประจำ การประมวลผลสอบเข้ามหาวิทยาลัยรังสิต ก็ทำผ่านอินเตอร์เน็ตทั้งนั้นครับ โปรแกรมที่ใช้คือ Microsoft Netmeeting ซึ่งเราตั้ง server เองเลยในเครื่อง intranet.rsu.ac.th รายละเอียดของโปรแกรมขอไม่กล่าวถึงในที่นี้ แต่พิสูจน์แล้วว่าใช้งานได้ดีทีเดียว ขนาดคุยกับฝรั่งแถวฟลอริด้า เสียงยังฟังชัดเจน
นอกจาก Microsoft Netmeeting แล้วก็มีโปรแกรมอื่นให้เลือกอีกมากมาย เช่น ICQ เป็นอีกตัวหนึ่งที่ผมเคยคิดจะใช้สำหรับอินทราเน็ต แต่หลังจากทดลองดูแล้วยังไม่ประทับใจ เพราะรู้สึกว่าจะ disconnect เป็นประจำแต่ถ้าสามารถตั้ง server เองได้ก็คงจะดีขึ้น แต่ว่า ICQ นี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีเครื่องประจำตัวมากกว่า ถ้าเป็นเครื่องที่ใช้งานร่วมกันอาจไม่ค่อยเหมาะสมนัก
ก็ขอกล่าวถึงเทคโนโลยีอื่นๆ แต่เพียงพอสังเขปเท่านี้ ผมเชื่อว่าในวงการอินเตอร์เน็ตนี้ ยังมีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อให้ผมเลือกนำมาใช้สำหรับอินทราเน็ตได้อีกมาก หากท่านผู้อ่านเห็นว่าเทคโนโลยีใด หรือโปรแกรมใดที่ท่านเห็นว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับอินทราเน็ตได้ ก็กรุณาบอกมาเพราะผมเองก็อาจมองข้ามบางอย่างไป และถ้ามีเนื้อหาเพียงพอ ผมก็อาจเขียนถึงเทคโนโลยี หรือโปรแกรมที่จะนำมาใช้กับอินทราเน็ตอีกก็ได้ครับ

สุรชัย ดียิ่ง
ผู้อำนวยการ ศูนย์บริการคอมพิวเตอร์
มหาวิทยาลัยรังสิต
21 พฤศจิกายน 2540